ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของการฉีด Filler ซึ่งแม้จะหายาก และพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นที่น่ากังวลครับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สามารถส่งผลกระทบที่รุนแรงและถาวรต่อชีวิตของผู้ที่ได้รับการฉีด
บทความนี้หมอจะพาไปสำรวจความเสี่ยงของอาการตาบอดหลังฉีดฟิลเลอร์ ว่าเกิดจากอะไร ? ฉีดจุดไหนเสี่ยง ? สัญญาณเตือนหลังฉีดแบบไหนที่ต้องระวัง รวมทั้งแนะนำวิธีการเลือกคลินิกฉีดฟิลเลอร์อย่างไร ให้ปลอดภัย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
สารบัญ ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด มีจริงไหม ? เป็นไปได้หรือไม่ ?
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ แต่ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นกันได้ง่าย ๆ มักเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับเส้นเลือดหรือเส้นประสาทที่สำคัญ เช่น บริเวณหน้าผาก จมูก ร่องแก้ม หรือบริเวณที่มีการไหลเวียนของเลือดสูง
หากเนื้อฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันบริเวณเส้นเลือดจุดใดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่เชื่อมกับดวงตาโดยตรง จะทำให้เลือดไปเลี้ยงดวงตาไม่ได้ เรียกว่าภาวะ Central Retinal Artery Occlusion (CRAO) หรือกรณีที่อุดตันหลอดเลือดจุดอื่น ๆ อาจส่งผลทำให้เกิดเนื้อตาย (Necrosis) ได้ครับ
ตัวอย่างภาพคนไข้ที่ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ตัวอย่างภาพคนไข้ที่ฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือดและเกิดการอุดตัน
ฉีดฟิลเลอร์บริเวณไหนเสี่ยงตาบอด ?
ตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการฉีดฟิลเลอร์แล้วเกิดการอุดตันเส้นเลือดจนถึงขั้นตาบอด คือบริเวณที่อยู่ใกล้ดวงตาครับ ได้แก่
โดยเฉพาะตำแหน่งร่องแก้ม มีความเสี่ยงต่อการอุดตันของเส้นเลือด เพราะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับทางเดินของเส้นเลือดใหญ่ที่เรียกว่า facial Artery ต่อกับ Angular Artery ที่เป็นเส้นเลือดเชื่อมต่อไปยังหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณลูกตาได้ ดังนั้นการฉีดจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ฟิลเลอร์ปาก ฟิลเลอร์คาง และฟิลเลอร์ใต้ตา ถือเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างปลอดภัย และโอกาสอุดตันเส้นเลือดค่อนข้างน้อย
โดยปัญหาที่พบบ่อยจะเป็นในแง่ความสวยงามมากกว่า อย่างการฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน ผิวไม่เรียบเนียน ผลลัพธ์ดูไม่เป็นธรรมชาติครับ
สาเหตุที่ทำให้ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดจากอะไร ?
สาเหตุที่ทำให้ฉีด Filler แล้วตาบอด เกิดจากการที่ฟิลเลอร์ไปอุดตันเส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตา เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงจอประสาทตา เซลล์ก็จะตาย และทำให้ตาบอดหลังฉีดฟิลเลอร์ในที่สุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
1. การฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งที่เสี่ยง
กายวิภาคบนใบหน้านั้นมีความซับซ้อนครับ เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดแดง รวมถึงมีเส้นเลือดที่เชื่อมโยงกับดวงตาโดยตรง
หากใช้เทคนิคการฉีดไม่ถูกต้อง ฉีดผิดวิธี ฉีดผิดตำแหน่ง ย่อมมีความเสี่ยงที่ฟิลเลอร์จะเข้าไปในเส้นเลือดแดง และอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณดวงตา ส่งผลให้เกิดอาการตาพร่ามัว และอาจสูญเสียการมองเห็นได้
2. การฉีดฟิลเลอร์โดยแพทย์ที่ไม่มีความชำนาญ
การฉีดฟิลเลอร์กับแพทย์ที่มีประสบการณ์ไม่มากพอ ฉีดกับหมอเถื่อน หมอกระเป๋า ที่ขาดความรู้ความชำนาญในการฉีด อาจฉีดฟิลเลอร์ได้ไม่ตรงจุด ใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม หรือฉีดในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือรับผิดชอบได้เมื่อเกิดความผิดพลาด
หากฉีดฟิลเลอร์กับแพทย์มากประสบการณ์ในคลินิกที่ได้มาตรฐาน โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดน้อยมาก ถ้าเกิดพลาดฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือด ก็สามารถฉีดสลายฟิลเลอร์ แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ไม่เกิดเนื้อตายหรือตาบอดครับ
3. การใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
การใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ฟิลเลอร์ปลอม มักจะเป็นสารประเภท Calcium hydroxylapatite, polymethylmethacrylate, ซิลิโคนเหลว พาราฟิน
เป็นสารเติมเต็มที่ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ รวมถึงไม่สามารถใช้การฉีดสลายได้ หากเข้าไปอยู่ในร่างกายแล้วจะอยู่ถาวร จับตัวเป็นก้อน ต้องเอาออกด้วยวิธีการผ่าตัดหรือขูดออกเท่านั้น
ในระยะแรกหลังฉีดอาจจะรู้สึกเหมือนปกติครับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะพบว่าฟิลเลอร์ไม่สลาย และเริ่มมีความผิดปกติ เกิดการไหล บวมแดง อักเสบรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเกิดการอุดตันในเส้นเลือด อาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด ไม่สามารถทำการรักษาได้
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ ?
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ไม่ใช่เคสที่เกิดขึ้นกันได้ง่าย ๆ และยังถือว่าการฉีด Filler มีอัตราการเกิดอันตรายและภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการฉีดไขมัน (Transplanted fat)
ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสถิติผลข้างเคียงหลังฉีดสารเติมเต็มที่ผ่านมา พบว่า จำนวนรายงานเคสที่พบภาวะเนื้อตายหรือตาบอดหลังฉีดไขมัน มีจำนวนสูงกว่าการฉีดฟิลเลอร์ประเภท HA และ สารเติมเต็มประเภทอื่น ๆ ครับ
ด้านบนเป็นภาพเปรียบเทียบเคสที่เกิดภาวะเนื้อตายและตาบอด จากการฉีดสารเติมเต็มชนิดต่าง ๆ ในปี 2018-2020 พบผู้ป่วยที่ตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์ 190 ราย เกิดจากการฉีดไขมันสูงที่สุด (90 ราย หรือ 47%) รองลงมาคือฟิลเลอร์ HA (53 ราย หรือ 28%) และสารเติมเต็มประเภทอื่น ๆ
จะเห็นว่าการเติมไขมัน มีความเสี่ยงสูงที่สุด ที่จะเกิดเนื้อตายและตาบอด เนื่องจากไม่มียาที่ฉีดสลายออกได้ทันที ต่างจากการฉีดฟิลเลอร์ HA ของแท้ หมอจะตรวจพบการอุดตันในเส้นเลือดได้จากการเปลี่ยนแปลงของสีผิวขณะฉีดและหลังฉีด
หากเกิดความผิดพลาด แพทย์ฉีดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือด ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที โดยการฉีดสลายฟิลเลอร์ด้วยเอนไซม์ที่ชื่อว่า Hyaluronidase ครับ
ฟิลเลอร์ (Filler) ในทางการแพทย์ หมายถึง สารฉีดเติมเต็ม (Injectible Filler) ซึ่งในต่างประเทศมักพบว่าฟิลเลอร์มีผลข้างเคียงเยอะ เพราะรวมการเติมไขมัน ฟิลเลอร์ชนิดที่ไม่สามารถสลายได้ รวมถึงฟิลเลอร์ปลอมไว้ในฟิลเลอร์ด้วย แต่ในไทย ฟิลเลอร์ จะหมายถึงฟิลเลอร์ HA ของแท้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด มักมีสัญญาณเตือนอย่างไร ?
- ตามัวลงอย่างรวดเร็วหลังฉีด ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือภายใน 1-2 วัน
- มองเห็นภาพซ้อนหรือภาพเบลอ
- ปวดตา ตาแดง หรือรูม่านตาอักเสบ
- ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
หากคนไข้มีอาการเหล่านี้หลังฉีดฟิลเลอร์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจประเมินและรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ยิ่งรีบรักษาเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสเยียวยาการมองเห็นได้ดีขึ้น สามารถช่วยลดความเสี่ยง และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ
แนวทางเลือกแพทย์ และ คลินิกฉีดฟิลเลอร์ ป้องกันเหตุตาบอด
การฉีดฟิลเลอร์ไม่ใช่จะฉีดที่ไหนกับใครก็ได้ครับ ต้องอาศัยทั้งทักษะและความรู้ ความชำนาญในการฉีดให้ได้ผลลัพธ์ออกมาสวยงาม ปลอดภัย
ก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ ที่ไหนดี คนไข้ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เลือกฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ในคลินิกที่ได้มาตรฐาน โดยพิจารณาได้จาก Checklist ดังนี้
วิธีเลือกแพทย์ฉีดฟิลเลอร์
- ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับแพทย์ที่มีประสบการณ์ด้านการฉีดฟิลเลอร์ รู้ตำแหน่งและเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง
- มีป้ายประจำตัวเแพทย์ และเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม สามารถนำชื่อ – นามสกุลของหมอไปตรวจสอบกับเว็บไซต์แพทยสภาได้
- มีรีวิวของผู้ใช้บริการจริงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น Facebook, Wongnai, Pantip ที่คลินิกไม่สามารถลบออกได้ ช่วยให้เห็นฝีมือของหมอ และผลลัพธ์ของเคสนั้น ๆ ประกอบการตัดสินใจก่อนทำ
- เป็นแพทย์ประจำของคลินิก ไม่ใช่แพทย์ Part-time เพราะแพทย์ประจำจะสามารถดูแลเคสได้ต่อเนื่อง สามารถติดตามตัวได้
- สามารถเข้าไปปรึกษา และตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำ รวมถึงก่อนฉีดฟิลเลอร์ทุกครั้ง สามารถขอให้แพทย์แกะกล่องใหม่ให้ดูต่อหน้าได้ เพื่อความมั่นใจว่าเป็นฟิลเลอร์ของแท้
วิธีเลือกคลินิกเสริมความฉีดฟิลเลอร์
- เลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน เปิดให้บริการอย่างถูกต้อง มีป้ายชื่อสถานพยาบาล รวมถึงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพ แสดงไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
- บรรยากาศภายในคลินิกต้องสะอาด สว่าง พื้นที่กว้างขวาง ไม่อับทึบหรือแออัด มีอุปกรณ์ เครื่องมือ ยาและเวชภัณฑ์อย่างครบถ้วน ผ่านการฆ่าเชื้อ ถูกต้องตามหลักอนามัย
- คลินิกควรจะตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถเดินทางเข้ามาติดต่อได้สะดวก มีที่จอดรถ
- ควรเลือกคลินิกที่มีการนัดหมายติดตามผลการรักษาหลังทำ มีแพทย์ดูแลและให้คำแนะนำข้อปฏิบัติหลังฉีดฟิลเลอร์อย่างใกล้ชิด
- คลินิกต้องมีช่องทางการติดต่อที่หลากหลาย เช่น เบอร์โทรศัพท์ Facebook หรือ Line@ สำหรับให้คนไข้สอบถามข้อมูล ข้อสงสัย หรือนัดหมายคิวปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลเคสของตนเองได้โดยตรง
วิธีดูฟิลเลอร์แท้
- ฟิลเลอร์แท้มีฉลากภาษาไทยอยู่บนกล่อง มีราคา เลขทะเบียน อย. และมีวันหมดอายุระบุชัดเจน
- เลข Lot ที่กล่อง สติกเกอร์ และหลอดต้องตรงกัน
- สามารถนำเลข Lot ไปตรวจสอบกับบริษัทนำเข้าได้
คลิกอ่านเพิ่มเติม : วิธีดูฟิลเลอร์แท้ แต่ละยี่ห้อ มีจุดสังเกตอย่างไร ? ยี่ห้อไหนบ้างที่ผ่าน อย.
สรุปเรื่องความเสี่ยงฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่ถือว่าเป็นอัตราที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และไม่ใช่ทุกคนเมื่อได้รับฟิลเลอร์แล้วจะตาบอดครับ
สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงจากการฉีดฟิลเลอร์ได้ ด้วยการเลือกฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ ในคลินิกที่ได้มาตรฐาน และใช้ฟิลเลอร์แท้เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
อ้างอิง
- Soft-tissue Filler-associated Blindness: A Systematic Review of Case Reports and Case Series
- Vision Loss Associated with Hyaluronic Acid Fillers: A Systematic Review of Literature
สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทีมแพทย์ V Square Clinic ทุกคนยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถปรึกษาหมอทาง inbox facebook หรือ Line นี้ได้เลยครับ หมอตอบเองครับ