อาการแพ้ฟิลเลอร์เป็นอย่างไร ? ฟิลเลอร์อักเสบ รักษาได้ไหม ?

Categories
filler
อาการแพ้ฟิลเลอร์

อาการแพ้ฟิลเลอร์

มีหลายคนครับที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ แต่กลัวและกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังฉีด เช่น อาการบวม ฟิลเลอร์เป็นก้อน ฟิลเลอร์ไหล หรืออาการแพ้ฟิลเลอร์ที่ได้เห็นกันตามข่าวบ่อย ๆ 

ในบทความนี้หมอจะมาให้คำตอบครับว่า filler แท้ที่เป็นสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) ฉีดแล้วแพ้จริงไหม ? อาการแพ้ฟิลเลอร์เป็นอย่างไร ? ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ กับอาการแพ้ฟิลเลอร์ ต่างกันอย่างไร ? การฉีดฟิลเลอร์ ไม่เหมาะกับใครบ้าง ? รวมถึงแนวทางการรักษาหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์ 

ฟิลเลอร์อันตรายไหม เลือกคลินิกฉีดอย่างไรให้ปลอดภัย l หมอ V Square แชร์หมดเปลือก

สารบัญ อาการแพ้ฟิลเลอร์

  1. อาการแพ้ฟิลเลอร์เป็นอย่างไร ?
  2. ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ กับอาการแพ้ฟิลเลอร์ ต่างกันอย่างไร ?
  3. การฉีดฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับใครบ้าง ?
  4. แนวทางการรักษาหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์
  5. ฟิลเลอร์อักเสบคืออะไร รักษาอย่างไร ?
  6. ก่อนฉีด-หลังฉีดควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ฟิลเลอร์
  7. หลังฉีดฟิลเลอร์ ห้ามกินอะไรบ้าง ?

อาการแพ้ฟิลเลอร์เป็นอย่างไร ?

ลักษณะอาการแพ้ฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์ ที่เกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ปลอม จนเกิดการอุดตันในเส้นเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงผิวหนังได้

อาการแพ้ฟิลเลอร์ เป็นภาวะที่ร่างกายมีการต่อต้านสารบางตัวที่อยู่ในเนื้อฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไป ซึ่งอาการนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากครับ เพราะฟิลเลอร์เป็นสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) ที่ผลิตขึ้นมาเลียนแบบสารที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่จะมีน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น เราจึงสร้างไฮยาลูรอนิกแอซิดสังเคราะห์ขึ้นมาทดแทน และสิ่งนั้นเรียกว่าฟิลเลอร์นั่นเองครับ

ลักษณะอาการแพ้ฟิลเลอร์จะมีอยู่ 2 แบบ คือ Immediate Hypersensitivity และ  Delayed Hypersensitivity 

อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Immediate Hypersensitivity

อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Immediate Hypersensitivity เป็นอาการแบบภาวะภูมิไวเกิน มักเกิดขึ้นในเวลาเป็นนาที-ชั่วโมง พบว่าเกิดจากการแพ้ยาชาที่ผสมอยู่ในเนื้อฟิลเลอร์ คนไข้จะรู้สึกคันเล็กน้อย มีผื่นแดง ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจมีอาการหน้าบวม หายใจติดขัด ไปจนถึงภาวะชักหรือหัวใจหยุดเต้น ดังนั้นในคนที่มีประวัติแพ้ยาชา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หรือเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์แบบมียาชาครับ

อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Delayed Hypersensitivity

อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Delayed Hypersensitivity เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังการฉีด แต่จะพบได้หลังจากฉีดฟิลเลอร์ผ่านไป 6 เดือนหรือเป็นปีครับ โดยจะพบว่าฟิลเลอร์เป็นก้อน นูน มีอาการอักเสบ มีหนองหน้าบวม สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บ หรือมีผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ 

การแพ้ฟิลเลอร์ที่เป็นสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) 
พบได้น้อยกว่า 0.01% ของผู้ฉีดฟิลเลอร์ทั้งหมด


ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ กับอาการแพ้ฟิลเลอร์ ต่างกันอย่างไร ?

ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ กับอาการแพ้ฟิลเลอร์ จะมีลักษณะอาการที่ต่างกันครับ หมอมีวิธีสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ 

ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ หมอจะแบ่งอาการออกเป็น 2 แบบ คือ ผลข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และผลข้างเคียงผิดปกติที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

  • ผลข้างเคียงปกติ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน หลังฉีด 3 วันแรก คนไข้จะมีรอยแดงจากเข็ม ในคนที่ผิวบอบบางอาจมีรอยช้ำ รอยเขียวจากเข็ม หรือมีอาการบวมในจุดที่ฉีดได้เป็นปกติ เรียกว่าการบวมเข็ม หลังจาก 5-7 วัน จะไม่มีอาการบวมขึ้นอีก และค่อย ๆ ดีขึ้น ยุบบวมเข้าที่ใน 14 วัน แนะนำให้เลี่ยงการกด นวด หรือถูบริเวณที่ฉีด เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ของฟิลเลอร์ และทำให้ยุบบวมช้า
  • ผลข้างเคียงผิดปกติ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน อาการที่พบ เช่น 
    • บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ มีสีคล้ำขึ้นเรื่อย ๆ เกิดจากแพทย์ฉีดฟิลเลอร์ผิดตำแหน่ง โดยฉีดเข้าหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอุดตัน นำไปสู่อาการเนื้อตาย (necrosis) เพราะเลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงผิวหนัง 
    • ฟิลเลอร์เป็นก้อน มีรอยนูน หรือผิวไม่เรียบ (Beading) เกิดจากแพทย์ฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้นผิว หรือเลือกใช้เนื้อฟิลเลอร์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ฉีด ในกรณีที่ฉีดฟิลเลอร์แท้ สามารถฉีดสลายออกได้ แต่หากฉีดฟิลเลอร์ปลอม จะต้องขูดหรือผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออก
    • บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์บวม แดง หรือมีก้อนหนอง เกิดจากขั้นตอนการฉีดที่ไม่สะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ไม่ถูกสุขลักษณะ คลินิกไม่ได้มาตรฐาน

ผลข้างเคียงผิดปกติ เช่น ฟิลเลอร์เป็นก้อน เป็นหนอง หรือผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น อาการดังกล่าวหากปล่อยไว้จะอันตรายมากครับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา

อาการแพ้ฟิลเลอร์ 

อาการแพ้ฟิลเลอร์ จะมีลักษณะเป็นก้อน นูน มีอาการอักเสบร่วมด้วย สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บ หรือในบางรายมีผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ (Angioedema) หนังตาบวม อาการแพ้ลักษณะนี้ หลังฉีดจะไม่แสดงอาการทันทีครับ พบได้หลังจากฉีดฟิลเลอร์ผ่านไป 6 เดือนหรือเป็นปี ขึ้นกับอายุใช้งานของฟิลเลอร์ชนิดนั้น ๆ และภูมิคุ้มกันของคนไข้


การฉีดฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับใครบ้าง ?

การฉีดฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับใครบ้าง
  • คนที่มีผิวติดเชื้อ ผิวอักเสบในบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ฟิลเลอร์ หรือแพ้สารไฮยาลูรอนิกแอซิด รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรฉีดฟิลเลอร์ สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด
  • ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกแล้วหยุดยาก มีแผลฟกช้ำง่าย โดยเฉพาะผู้ที่กำลังรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (ASA), ยาแก้อักเสบปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (NSAIDS), ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), วิตามินอี (Vitamin E), สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) เป็นต้น แต่สามารถฉีดได้ในบางกรณี จึงจำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการหยุดยา
  • กรณีที่เป็นเริม หรืองูสวัดอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์ เพราะอาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้นได้ครับ

แนวทางการรักษาหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์

แนวทางการรักษาหากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์ หมอแนะนำวิธีดังนี้ครับ 

  • ทานยา : หากคนไข้มีอาการเล็กน้อย สามารถทานยาฆ่าเชื้อ ยาลดการอักเสบ เพื่อลดบวม ลดผื่นลมพิษได้ครับ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลและจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น
  • ฉีดสลายฟิลเลอร์ : จะเป็นการใช้เอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส ( Hyaluronidase : HYAL) ซึ่งเอนไซม์นี้จะช่วยย่อยสลาย filler ในกลุ่มสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) จึงช่วยรักษาอาการแพ้ฟิลเลอร์ได้ (เฉพาะในเคสที่ฉีดฟิลเลอร์แท้เท่านั้น)
  • ขูดฟิลเลอร์ : จะใช้ในกรณีที่คนไข้ฉีดสารเติมเต็มประเภทซิลิโคน หรือ พาราฟิน เพราะสารเติมเต็มจำพวกนี้จะไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ และไม่มีสารตัวใดสลายฟิลเลอร์ชนิดนี้ได้ หากต้องการเอาออก ต้องทำการขูดออกเท่านั้นครับ
  • ผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออก : กรณีนี้จะคล้ายกับการขูดฟิลเลอร์ครับ คือแก้ไขในคนที่ฉีดฟิลเลอร์ประเภทซิลิโคนเหลวมาแล้วเกิดอักเสบ ฟิลเลอร์เป็นก้อนขนาดใหญ่และแข็งมาก ซึ่งการผ่าตัดส่วนใหญ่จะไม่สามารถเอาฟิลเลอร์ออกได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฉีดมา ต้องระวังทั้งเรื่องของเส้นประสาท เส้นเลือดสำคัญต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ศัลยกรรมในโรงพยาบาลครับ

ฟิลเลอร์อักเสบคืออะไร รักษาอย่างไร ?

ฟิลเลอร์อักเสบ คือ เกิดการติดเชื้อหลังฉีดฟิลเลอร์ มักเกิดขึ้นใน 3-7 วันหลังฉีด อาการที่พบ เช่น ฟิลเลอร์เป็นก้อน นูน แดง ปวด บวม ร้อน มีตุ่ม หรือมีหนองตรงบริเวณที่ฉีด มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อระหว่างทำหัตถการ คลินิกไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่สะอาด  

วิธีรักษาเมื่อฟิลเลอร์อักเสบ คือต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ทานยาฆ่าเชื้อ ยาลดการอักเสบ ลดบวม ลดผื่นลมพิษ หรือถ้าฟิลเลอร์อักเสบรุนแรง ต้องทำการฉีดสลายฟิลเลอร์ ซึ่งจะใช้ได้เฉพาะคนที่ฉีดฟิลเลอร์แท้เท่านั้น หากคนไข้ฉีดฟิลเลอร์ปลอมมาจะต้องแก้ไขด้วยการขูดหรือผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออกครับ


ก่อนฉีด-หลังฉีดควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ฟิลเลอร์

ข้อปฏิบัติตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์

ก่อนฉีดฟิลเลอร์ 1 อาทิตย์

ข้อปฏิบัติตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์
  • งดยาก่อนฉีดฟิลเลอร์ เช่น แอสไพริน, NSAIDs, ibuprofen, diclofenac, ponstan เนื่องจากขณะฉีดอาจโดนเส้นเลือดได้ ส่งผลให้เลือดหยุดไหลช้าหรือช้ำง่ายกว่าปกติ 
  • งดวิตามิน St. John’s Wort, ginkgo biloba, primrose oil, garlic, ginseng และ Vitamin E 
  • งดการใช้ยาที่มีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น tretinoin, (เรตินเอ), retinols(เรตินอล), retinoids (เรตินอยด์) BHA, AHA ก่อนฉีดฟิลเลอร์ 3 วัน
  • งดดึงขน โกนขน หรือแวกซ์ขนในบริเวณดังกล่าวก่อนฉีด filler อย่างน้อย 3 วัน  
  • งดเลเซอร์หน้า นวดหน้า อย่างน้อย 3 วัน
  • หากมีโรคประจำตัว หรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดฟิลเลอร์

ก่อนฉีดฟิลเลอร์ 24 ชั่วโมง

ข้อปฏิบัติตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 
  • งดกิจกรรมที่ทำให้เลือดสูบฉีด เช่น ออกกำลังกายหนัก ๆ อบซาวน่า
  • ในกรณีที่คนไข้มียาที่ต้องกินประจำ แพทย์จะพิจารณาให้ทานยาห้ามเลือดหรือยาลดบวมตามความเหมาะสมในแต่ละเคส เพื่อลดการบวมช้ำจากรอยเข็ม 
  • สามารถแต่งหน้า ทาครีมบำรุงได้ตามปกติ 
  • ก่อนฉีดฟิลเลอร์จะมีการคลีนหน้า เพื่อแปะยาชา และรอยาชาออกฤทธิ์ประมาณ 30-45 นาที

ข้อปฏิบัติตัวหลังฉีดฟิลเลอร์

ข้อปฏิบัติหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องน้ำหมาก
  • หลังฉีดฟิลเลอร์ทันที สามารถยิ้มได้ปกติครับ แต่ควรงดสัมผัสบริเวณที่ฉีด เช่น กด นวด บีบ หรือขยับผิวในจุดนั้นมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ตัวฟิลเลอร์เกิดการเคลื่อนไปยังจุดอื่นได้
  • ในช่วง 1 เดือนแรก ควรงดการทำเลเซอร์ร้อนที่ลงผิวชั้นลึกทุกชนิด และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เช่น การทำซาวน่า ตากแดด ออกกำลังกายหนัก
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดการยุบบวมช้าหรืออักเสบได้
  • 2-3 คืนแรก ควรนอนหมอนสูงกว่าระดับหน้าอก งดนอนตะแคง
  • งดการทานอาหารที่ส่งผลต่อการยุบบวมของฟิลเลอร์ เป็นเวลา 14 วัน

หลังฉีดฟิลเลอร์ ห้ามกินอะไรบ้าง ?

หลังฉีดฟิลเลอร์ ห้ามกินอะไรบ้าง
  • หลังฉีดฟิลเลอร์ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ควรงดอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป เช่น ผลไม้ดอง ผักดอง ปลาร้า กุ้งดอง
  • อาหารที่มีรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมสูงจะดูดน้ำจากร่างกาย อาจทำให้ฟิลเลอร์ยุบบวมช้าลง ตัวบวมน้ำได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาหารที่มีรสหวาน รสเผ็ดมาก ๆ ที่ทำให้หน้าแดง
  • อาหารร้อน ที่ต้องนั่งหน้าเตาเป็นเวลานาน เช่น หมูกระทะ ปิ้งย่าง ชาบู  รวมไปถึงเครื่องดื่มร้อน ๆ
  • อาหารดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรืออาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น อาหารทะเล แซลมอน ซาซิมิ หอยสด ไข่ลวก เนื้อที่ปรุงไม่สุก
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีเลือดมาสูบฉีดมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอาการบวมจากรอยเข็มหายช้าลง และทำให้ฟิลเลอร์สลายไวขึ้นครับ  หมอแนะนำให้งดไปก่อน 14 วัน หรือถ้าหากใครที่เลี่ยงไม่ได้ก็ควรเว้นระยะ 2-3 วันครับ
Vsquare tips

ข้อควรรู้ : อาหารบางประเภทจะส่งผลต่ออายุของฟิลเลอร์ การเห็นผล หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้นหากคนไข้ต้องการเห็นผลลัพธ์ไว อยากให้ฟิลเลอร์เข้าที่เร็ว และอยู่ได้นานขึ้น ควรเลี่ยงอาหาร 5 ประเภทที่หมอได้แนะนำไปครับ 


สรุป

อาการแพ้ฟิลเลอร์ หากเป็นฟิลเลอร์แท้ที่เป็นสารไฮยาลูรอนิกแอซิด (HA) จะมีโอกาสแพ้ได้น้อยมาก ๆ ครับ เปอร์เซ็นการแพ้ฟิลเลอร์ จะเกิดขึ้นกับคนที่ฉีดฟิลเลอร์ปลอมมากกว่า ซึ่งถ้าพลาดฉีดฟิลเลอร์ปลอมแล้ว การแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่าตัดหรือขูดออกเท่านั้นครับ ไม่มียาสำหรับฉีดสลาย

เพื่อระวังฟิลเลอร์ปลอม ก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ ควรศึกษาวิธีดูฟิลเลอร์แท้ยี่ห้อต่าง ๆ ไว้ครับ อันดับแรกควรดูเลข Lot ที่กล่อง สติ๊กเกอร์ หลอด ต้องตรงกัน และควรให้แพทย์แกะกล่องใหม่ให้ดูต่อหน้า เพื่อความมั่นใจว่าเป็นของแท้ครับ


อ้างอิง :
Hypersensitivity | http://110.164.51.230/manage/Research_pic/20121111035242.pdf


สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทีมแพทย์ V Square Clinic ทุกคนยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถปรึกษาหมอทาง inbox facebook หรือ Line นี้ได้เลยครับ หมอตอบเองครับ

Banner_Web_หมอให้คำปรึกษา_หมอ40คน