ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน
ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนไข้หลายคนมีความกังวลหลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาครับ เพราะตำแหน่งใต้ตาหากเป็นก้อนแล้วจะสามารถสังเกตได้ชัด ทำให้เสียความมั่นใจ ในบางรายอาจมองเห็นเป็นก้อนนูน แต่จับแล้วไม่เจ็บ จึงทำให้คนไข้เกิดอาการกลัวว่าจะเป็นก้อนที่อันตราย
ในบทความนี้หมอจะมาให้คำตอบครับว่า ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน เกิดจากสาเหตุอะไร ? หากฟิลเลอร์เป็นก้อน มีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง ใต้ตาบวมข้างเดียว อันตรายไหม ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วบวม กับฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนต่างกันอย่างไร เพื่อให้คนไข้สามารถศึกษาข้อมูล พร้อมสังเกตอาการฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อนในเบื้องต้นด้วยตัวเองครับ
สารบัญ ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน
ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน เกิดจากสาเหตุอะไร ?
ปัญหาฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ ได้แก่
1. แพทย์เลือกรุ่นฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสม
ฟิลเลอร์ที่นิยมใช้มีหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีคุณสมบัติเฉพาะที่เหมาะกับการฉีดในแต่ละตำแหน่งที่ต่างกันครับ สำหรับบริเวณใต้ตาจะเป็นบริเวณที่ผิวมีการขยับบ่อย และมีลักษณะผิวบาง ดังนั้นการเลือกฟิลเลอร์ที่เหมาะสมคือ ควรใช้ฟิลเลอร์ที่มีเนื้อนิ่ม และไม่ฟูมากจนเกินไป สามารถเก็บรายละเอียดได้ดี หลังฉีดจะช่วยให้ผิวเรียบเนียน แต่หากเลือกฟิลเลอร์รุ่นที่ฟูเกินไป หลังฉีดจะทำให้ตาบวม ยิ้มแล้วใต้ตาเป็นก่อน ดูไม่เป็นธรรมชาติ
แต่ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาใต้ตาลึกมาก มีการทรุดตัวของกระดูกและไขมัน ก็จะแนะนำฟิลเลอร์ที่เนื้อมีความคงตัวสูง เพื่อฉีดหนุนในชั้นกระดูก ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นธรรมชาติ เรียบเนียน ใต้ตาไม่เป็นก้อนครับ
2. ฉีดฟิลเลอร์ปลอม
แม้ว่าในปัจจุบันฟิลเลอร์ปลอมจะมีน้อยลง แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างครับ ส่วนใหญ่จะเป็นซิลิโคนเหลว Calcium Hydroxylapatite, Polymethylmethacrylate, Biosynthetic Polymers ฟิลเลอร์จำพวกนี้เมื่อฉีดแล้วจะอยู่ถาวร ไม่สามารถสลายได้ หลังฉีดจะเห็นผลลัพธ์ดีในช่วงแรก แต่พอนาน ๆ ไปฟิลเลอร์จะจับตัวเป็นก้อน ฟิลเลอร์ไหล หรือกลายเป็นพังผืด วิธีแก้ไขคือต้องผ่าออก หรือขูดออกเท่านั้น ซึ่งหมอไม่แนะนำให้ใช้ครับ
3. แพทย์ใช้เทคนิคการฉีดที่ไม่ถูกต้อง
ตำแหน่งใต้ตา เป็นจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากครับ เพราะเป็นจุดที่เมื่อเป็นก้อนแล้วจะสังเกตได้ง่าย ดังนั้นแพทย์ที่ฉีดจะต้องมีประสบการณ์ มีความละเอียด พิถีพิถัน ฉีดด้วยเทคนิคที่ถูกต้องโดยจะต้องฉีดในชั้นใต้กล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่มีความชำนาญ ฉีดในชั้นกล้ามเนื้อที่ตื้นเกินไป จะทำให้เห็นฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อนได้
4. ใช้ฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากเกินไป
การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาในปริมาณ 2 -4 CC จะเป็นปริมาณที่เหมาะสมครับ ไม่ควรมากไปกว่านี้ แพทย์จะค่อย ๆ ฉีดเนื้อฟิลเลอร์เข้าไป แล้วปรับแต่งให้เรียบเนียน ไม่ได้ฉีดไปทีเดียวครั้งละเยอะ ๆ เพราะบริเวณใต้ตาเป็นบริเวณที่ต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด หากใช้ปริมาณ CC เยอะเกินไป เวลายิ้มจะทำให้ใต้ตาดูบวมเป็นก้อน ดูไม่เป็นธรรมชาติครับ
จากที่หมอได้ยกตัวอย่างสาเหตุของการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อน จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ประสบการณ์และเทคนิคการฉีดของแพทย์เป็นหลัก ดังนั้นวิธีป้องกันการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนที่ดีที่สุด คือ เลือกฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์เท่านั้น เพราะแพทย์สามารถประเมินปัญหาใบหน้า และคำนวณ cc ที่ใช้ได้อย่างแม่นยำ แก้ปัญหาได้ตรงจุด ฉีดในชั้นผิวที่ถูกต้อง มีเทคนิคเฉพาะตัว มือเบา ช้ำน้อย เพื่อให้ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาไม่เป็นก้อน บวมน้อย ได้ผลลัพธ์ที่ปลอดภัย และดูเป็นธรรมชาติครับ
ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อนมีลักษณะอย่างไรบ้าง ?
เพื่อให้ไม่เกิดความสับสน คนไข้ต้องแยกให้ออกก่อนครับว่า ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วบวม กับฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนนั้นมีความแตกต่างกัน
ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วบวม : เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ครับ เกิดจากรอยเข็ม หรือบวมจากเนื้อฟิลเลอร์ที่เพิ่งฉีดเสร็จใหม่ ๆ อาการบวมจะหายไปได้เองประมาณ 2-3 วัน แต่ในบางเคสที่ผิวบวมง่าย อาจบวมได้ 5-7 วัน และฟิลเลอร์จะเริ่มเข้าที่ประมาณ 7-14 วัน ในระหว่างนี้อาจจะต้องรอให้ฟิลเลอร์ที่ฉีดมายุบบวมก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการบวม หรือฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อนครับ
ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อน : ในกรณีนี้มีทั้งฟิลเลอร์เป็นก้อนที่ไม่อันตรายและแบบอันตรายครับ โดยคนไข้สามารถสังเกตได้จากการสัมผัส เช่น ถ้าคลำแล้วรู้สึกเป็นก้อนลึก ๆ อยู่ใต้ผิวหนัง เวลายิ้ม หัวเราะ หรือพูดแล้วก้อนฟิลเลอร์ไม่ปรากฏขึ้นมา หรือเป็นก้อนที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า อาการในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ครับ ก้อนฟิลเลอร์จะค่อย ๆ ยุบลงเรื่อย ๆ จนฟิลเลอร์สลายหมด ไม่อันตรายหรือมีผลข้างเคียง
ส่วนฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนที่ผิดปกติ จะมีลักษณะ ดังนี้
- ฟิลเลอร์เป็นก้อนแข็ง ดูเป็นลำ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะมองเห็นชัดขึ้นเวลาแสดงสีหน้าหรือขยับหน้า คลำผิวชั้นตื้นแล้วเป็นก้อน บางเคสอาจมีใต้ตาเป็นก้อนข้างเดียวได้ครับ
- มีอาการบวมบวมขึ้นเรื่อย ๆ
- แดงหรือคล้ำ บริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์
- จับแล้วเจ็บ ร้อนบริเวณผิวหนังที่ฉีดฟิลเลอร์ ลองใช้หลังมือแตะ คล้ายวิธีวัดไข้
อาการดังกล่าวถือว่าเป็นอาการบวมที่อันตรายครับ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษา
นอกจากนี้ลักษณะผิวของคนไข้เองก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนได้ครับ เพราะผิวบริเวณใต้ตาเป็นจุดที่มีความบอบบาง จึงมีโอกาสบวมช้ำได้ง่าย โดยเฉพาะในคนที่มีผิวใต้ตาบางมาก หรือมีกล้ามเนื้อบริเวณหัวตาแข็งแรง เมื่อฉีดฟิลเลอร์จึงทำให้เกิดการดันขึ้นมาเป็นก้อน หรือในบางเคสอาจเห็นเป็นเงาสีเขียว ถึงแม้จะใช้ฟิลเลอร์และฉีดด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง ก็อาจเกิดปัญหานี้ได้เช่นกัน
ฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน มีวิธีแก้ไขอย่างไร ?
วิธีแก้ไขปัญหาฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อน มีด้วยกัน 3 วิธี โดยแพทย์จะเลือกวิธีที่เหมาะสม และปลอดภัยในแต่ละเคส ดังนี้ครับ
ฉีดสลายฟิลเลอร์ใต้ตา
การฉีดสลายฟิลเลอร์ คือการนำไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase : HYAL) มาฉีดเพื่อสลายฟิลเลอร์ที่เป็นก้อนครับ แต่จะฉีดสลายได้แค่ฟิลเลอร์แท้ที่เป็นไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid : HA) เท่านั้น โดยแพทย์จะคำนวณปริมาณตัวยาที่จะใช้ฉีดสลายจากปริมาณฟิลเลอร์ที่คนไข้มา เพื่อให้ได้ปริมาณยาสลายที่เหมาะสม ตัวยาที่ใช้ฉีดไม่มีอันตรายครับ เมื่อฉีดแล้วไม่กระทบเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ หลังฉีดสลายจะเห็นผลทันทีในบางส่วน และจะเห็นผลต่อเนื่องใน 1-3 วัน หากต้องการฉีดฟิลเลอร์เพิ่ม ควรเว้นระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังฉีดสลายไปแล้ว
ขูดฟิลเลอร์
การขูดฟิลเลอร์ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ปลอม ชนิดซิลิโคนเหลว Polyamine (Aqualift), Hydrofilic gel ซึ่งเป็นฟิลเลอร์ที่ไม่สามารถสลายได้ และเมื่อขูดแล้วอาจจะไม่สามารถเอาออกได้หมด เห็นผลเพียง 60-70% เท่านั้น
ผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออก
การผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออก ใช้ในกรณีที่คล้าย ๆ กับการขูดฟิลเลอร์ครับ คือคนไข้ฉีดฟิลเลอร์ประเภทซิลิโคนเหลวมาแล้วเป็นก้อนขนาดใหญ่และแข็งมาก รวมไปถึงผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์มานานจนเป็นพังผืดเกาะ ซึ่งการผ่าตัดส่วนใหญ่จะไม่สามารถเอาฟิลเลอร์ออกได้ทั้งหมด และในการผ่าตัดจะต้องระวังทั้งเรื่องของเส้นประสาท เส้นเลือดสำคัญต่าง ๆ ควรทำกับแพทย์ศัลยกรรมในโรงพยาบาลครับ
วิธีการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้หลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน
- หลีกเลี่ยงการแตะ แกะ เกาและกดนวดบริเวณใต้ตา หลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาอาจมีอาการบวมแดงหรือเขียวช้ำเป็นปกติ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นใน 7-14 วัน
- ในบางเคสอาจปวดระบมตามรอยเข็มในคืนแรกหลังทำ สามารถกินยาแก้ปวด paracetamol ที่ทางคลินิกให้ไปทุกๆ 4 ชม . และควรกินยาที่แพทย์จ่ายให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดอาการบวม และป้องกันการติดเชื้อ
- ควรอยู่ในที่อากาศเย็น หลีกเลี่ยงความร้อนทุกชนิดและกิจกรรมที่ทำให้หน้าแดงอย่างน้อย 48 ชม. เช่น ซาวน่า ออกกำลังกายหนัก ตากแดด
- งดเลเซอร์ร้อนที่ลงผิวชั้นลึกทุกชนิดอย่างน้อย 1 เดือน
- น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ฟิลเลอร์อยู่ได้นานขึ้น เพราะฟิลเลอร์เป็นสารที่อุ้มน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ฟิลเลอร์ฟูได้รูป ดังนั้นควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอตามปกติคือวันละ 1.5-2 ลิตรครับ
ข้อห้ามหลังฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ลดการเป็นก้อน
- ไม่ควรแกะ เกา กดหรือนวดบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ เพราะอาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนที่ได้
- หลีกเลี่ยงความร้อนในช่วง 3 วันแรก อย่างน้อย 48 ชม. เช่น ซาวน่า ออกกำลังกายหนัก ตากแดด
- งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ยุบบวมช้า และส่งผลลัพธ์อยู่ได้สั้นลง
- อย่าขยับผิวในจุดที่ทำมากโดยเฉพาะช่วง 3 วันแรก เพราะอาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนได้ครับ
- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารที่เผ็ดมาก ๆ จนหน้าแดง อาหารหวานจัดและอาหารดิบจากร้านที่ไม่สะอาด
สรุป
ปัญหาฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อน มีโอกาสเกิดได้น้อยมากถ้าเลือกฉีดฟิลเลอร์แท้ และฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ครับ เพราะแพทย์จะสามารถประเมิน และแก้ไขปัญหาใบหน้าของคนไข้แต่ละคนได้ตรงจุด แต่หากคนไข้ฉีดฟิลเลอร์ปลอม หรือฉีดกับแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์ นอกจากฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อนแล้ว อาจทำให้อันตรายถึงขั้นเนื้อตายหรือตาบอดได้
ดังนั้นการป้องกันการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาแล้วเป็นก้อนที่ดี คือควรฉีดฟิลเลอร์แท้ที่ผ่าน อย. และเลือกหมอที่มีประสบการณ์ ยิ่งนาน ยิ่งชำนาญก็จะยิ่งดีครับ เพราะการฉีดฟิลเลอร์จะต้องอาศัยความถนัดและใช้ฝีมือในการออกแบบใบหน้าให้กับคนไข้ เพื่อให้สวยดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด
สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทีมแพทย์ V Square Clinic ทุกคนยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสามารถปรึกษาหมอทาง inbox facebook หรือ Line นี้ได้เลยครับ หมอตอบเองครับ